|
แอล ดับเบิลยู เอสฯ ระบุความต้องการซื้อคอนโดเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้มาแรง
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอาคารชุดในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจ และ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวว่า จากผลการสำรวจแบบสุ่มโดยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 183 คน เป็นเพศหญิงคิดเป็นสัดส่วน 58% ในขณะที่ 35% เป็นเพศชาย และ 7% เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีอายุระหว่าง 29 - 44 ปี คิดเป็นสัดส่วน 58% มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 25,000 - 75,000 บาทต่อเดือน และ 18% มีรายได้เกินกว่า 75,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ พบว่า 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามสนใจซื้ออาคารชุดที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้ ที่ระดับราคา 3 - 5 ล้านบาทต่อหน่วย โดยผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มนี้ที่สนใจซื้อห้องชุดที่เลี้ยงสัตว์ได้ เป็นกลุ่มคนโสดคิดเป็นสัดส่วน 67% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
ในขณะที่ทำเลที่ได้รับความสนใจ 3 อันดับแรกได้แก่
1. โซนรัชโยธิน จตุจักร - บางซื่อ งบประมาณ 2 - 4 ล้านบาทต่อห้อง
2. โซนรัชดา - พระราม 9 - เพชรบุรีตัดใหม่ งบประมาณ 1 - 3 ล้านบาทต่อห้อง
3. โซนพระโขนง อ่อนนุช - บางจาก งบประมาณ 1 - 3 ล้านบาทต่อห้อง
เนื่องจากทำเลดังกล่าวอยู่ใกล้กับแหล่งงาน และ เดินทางสะดวก ประกอบกับพื้นที่โดยรอบทำเลดังกล่าว มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ทั้ง โรงพยาบาลสัตว์, ร้านรับอาบน้ำ - ตัดขนสัตว์เลี้ยง, โรงแรมสำหรับฝากสัตว์เลี้ยง, และ ดูแลทำความสะอาดห้องชุด ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ซื้ออาคารชุดที่เปลี่ยนแปลงไป ตามผลการสำรวจของ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2566 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,146 คน ที่พบว่า 49% ของคน Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 24 - 41 ปี นิยม เลี้ยงสัตว์เลี้ยง เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ภายใต้แนวคิด "Pawrents" หรือ พ่อ - แม่สัตว์เลี้ยง และกลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดที่เลี้ยงสัตว์ได้จึงมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้น ตามพฤติกรรมของผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป
Go To Lead
|
กสิกรไทย เปิดรับสมัครทุน ป.โท KBank Annual Scholarship 2025
นางสาวหทัยพร เจียมประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยดำเนินธุรกิจมา 80 ปี ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน สามารถรับมือกับความท้าทายและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือผู้นำที่เติบโตขึ้นมาจากโครงการทุนของธนาคารซึ่งนอกจากความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการไปศึกษาต่อ พนักงานในโครงการนี้ยังจะได้โอกาสสำคัญในการรับผิดชอบงานที่เป็นยุทธศาสตร์หลักขององค์กร ทำให้ได้มีโอกาสทำงานและได้รับประสบการณ์ตรงจากผู้บริหารของธนาคาร ร่วมเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าในการขับเคลื่อนเป้าหมายของธนาคารสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability)โดยในปี 2568 นี้ โครงการ KBank Annual Scholarship 2025 ได้เปิดรับสมัครสอบชิงทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก จำนวน 8 ทุน ในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐฝรั่งเศส สมาพันธรัฐสวิส ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสิงคโปร์ ในหมวดสาขาบริหารธุรกิจ (MBA) หมวดสาขาวิชาวิเคราะห์เชิงลึกทางธุรกิจ (Business Analytics) และหมวดสาขาวิชาอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางยุทธศาสตร์ของธนาคาร
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร จะต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาวุฒิปริญญาตรีไม่จำกัดสาขาวิชา โสด อายุไม่เกิน 30 ปี บริบูรณ์ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567) มีคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดปีการศึกษาไม่ต่ำกว่า 3.0 มีผลสอบด้านภาษาอย่างใดอย่างหนึ่ง TOEFL อย่างน้อย 213 คะแนน (Computer based) หรือ 80 คะแนน (Internet-based) หรือ IELTS อย่างน้อย 6.0 สำหรับผู้สมัครทุนประเทศญี่ปุ่น JLPT ระดับตั้งแต่ N2 ขึ้นไป และสำหรับผู้สมัครทุนสาธารณรัฐประชาชนจีน HSK ระดับ 5 ขึ้นไป สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนในหมวดสาขาวิชาทางธุรกิจจะต้องมี GMAT อย่างน้อย 550 คะแนน และสำหรับหมวดสาขาวิชาวิเคราะห์เชิงลึกทางธุรกิจ ต้องมี GRE อย่างน้อย 312 คะแนน
อีกทั้งต้องมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 1 ปี มีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Skill) สามารถประเมินและจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการคิดนอกกรอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ (Creative and Innovative) ไม่หยุดการเรียนรู้ สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ (Continuous Learning and Self-Improvement)
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 20 พฤษภาคม 2568 ทางเว็บไซต์www.kasikornbank.com/kbankannualscholarship ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานทุนการศึกษา ฝ่ายพัฒนาศักยภาพพนักงาน โทร. 02-4701361 หรือ 02-4701656 หรือ 02-4705915 หรืออีเมล KBankScholarship@kasikornbank.com
Go To Lead
|
OCEAN LIFE ไทยสมุทร สนับสนุนคนไทยดูแลสุขภาพ
นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ (CEO) บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต รักคือพลังของชีวิต เปิดเผยว่า มุ่งส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนและการออกกำลังกายในพื้นที่สาธารณะที่สะดวกและปลอดภัย จึงได้มอบเรือจักรยานน้ำโอชิ 6 ลำ พร้อมเสื้อชูชีพ 30 ตัว และป้ายคำแนะนำข้อควรปฏิบัติในการใช้เรือจักรยานน้ำให้แก่สวนเบญจกิติ เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ประชาชนที่มาใช้บริการสวนสาธารณะ ในโอกาสนี้ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้เกียรติรับมอบอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการปั่นเรือจักรยานน้ำเพื่อเสริมสมรรถภาพร่างกาย หรือใช้สวนเบญจกิติเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
OCEAN LIFE ไทยสมุทร ใช้ความรักเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กร โดยไม่หยุดพัฒนาในทุกมิติ เพื่อทำให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่าย ทำให้คนไทยเข้าถึงประโยชน์ของการประกันชีวิตได้มากที่สุด พร้อมแล้วที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลโลกและสังคม เพื่อส่งมอบอนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไปได้ใช้ชีวิตอย่างมั่นคง มั่นใจ ปลอดภัย มีความสุข สนใจติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ocean.co.th หรือ ติดต่อ OCEAN LIFE CONTACT CENTER 1503
Go To Lead
|
คปภ. เดินหน้าCopayment
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย ประจำปี 2568 เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาประกันภัย กรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยของสัญญาประกันภัยสุขภาพโดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน ประกอบด้วย สภาธุรกิจประกันภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) ในเงื่อนไขการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งการร่วมจ่ายจะมีผลบังคับใช้เฉพาะในปีถัดไป หากผู้เอาประกันภัยเข้าหลักเกณฑ์ ดังนี้ กรณีที่ 1 การเคลมเป็นผู้ป่วยใน ด้วยกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Disease) และไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ให้ต้องรักษาตัวแบบผู้ป่วยใน และมีการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรวมตั้งแต่ 200%
" กรณีที่ 2 การเคลมเป็นผู้ป่วยใน ที่ไม่รวมโรคร้ายแรง และการผ่าตัดใหญ่ ที่มีการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรวมกันตั้งแต่ 400% โดยในแต่ละกรณีให้กำหนดสัดส่วน Copayment ได้สูงสุดไม่เกิน 30% และหากเข้าทั้งกรณีที่ 1 และกรณีที่ 2 กำหนดสัดส่วน Copayment ได้สูงสุดไม่เกิน 50% ของค่ารักษาที่ได้รับความคุ้มครองในปีถัดไป ซึ่งการกำหนดสัดส่วนดังกล่าวเป็นการกำหนดเป็นขั้นสูงสุด การจะกำหนดสัดส่วนเป็นเท่าใดในแต่ละกรณีจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบริษัท " นายชูฉัตร กล่าว
Go To Lead
|
กรุงเทพประกันภัยเป้าเบี้ยปีนี้ 3.42 หมื่นล้าน โต 8%
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKIH และ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจในปี 2568 ได้ตั้งเป้าหมายของบริษัทกรุงเทพประกันภัย จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 34,200 ล้านบาท เติบโต 8% เมื่อเทียบจากปี 2567 ที่ทำได้ 31,736 ล้านบาท โดยการเติบโตจะมาจากเบี้ยประกันรถยนต์ (มอเตอร์) จำนวน 14,700 ล้านบาท เติบโต 11% คิดเป็นสัดส่วน 43% และเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถยนต์ (น็อนมอเตอร์) อยู่ที่ 19,500 ล้านบาท เติบโต 7% คิดเป็นสัดส่วน 57%Vสำหรับการเติบโตของธุรกิจประกันรถยนต์ จะไม่ใช่การเติบโตจากปลาใหม่ที่เกิดขึ้นในบ่อ เพราะยอดขายรถใหม่ยังมีความเปราะบางอยู่ ซึ่งปีที่แล้วตั้งเป้ายอดขายรถใหม่ 8 แสนคัน แต่ขายจริงได้แค่ 5 แสนคัน เพราะฉะนั้นบริษัทกรุงเทพประกันภัยจะต้องสร้างการรับรู้เพื่อให้ลูกค้าหรือคู่ค้าตัดสินใจเลือกทำประกันกับบริษัท โดยทั้งองคาพยพต้องสร้างบริบทของการพัฒนาคุณภาพบริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และพัฒนาระบบการรองรับการให้บริการอย่างโดดเด่นและแตกต่าง ส่วนการเติบโตของธุรกิจประกันที่ไม่ใช่รถ จะมาจากการขยายตัวของงานประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินจากโครงการภาครัฐขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งงบประมาณภาครัฐที่อนุมัติแล้วจะเข้าสู่ระบบประกันภัยอย่างสมบูรณ์ในปีนี้
ปีนี้ความท้าทายสำคัญคือความเปราะบางของเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติและโรคระบาด ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจประกันภัย จึงมีความยากขึ้นกว่าปีก่อน รวมไปถึงปัจจัยหนี้ครัวเรือนสูงก็ทำให้การขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตได้ยากด้วยเช่นกัน
โดยแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2568 ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยคาดว่าจะมีเบี้ยรับรวมระหว่าง 2.91-2.95 แสนล้านบาท ขยายตัว 1.5-2.5% ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตมาจากการเร่งขยายโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จากเงินลงทุนภาครัฐ ประกอบกับประกันสุขภาพที่เติบโตจากการตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่นำไปสู่โรคประจำฤดูกาล ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงปัจจัยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) ด้านตลาดบ้านที่อยู่อาศัย ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนตระหนักถึงการประกันความเสี่ยงภัยดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมและลมพายุ
Go To Lead
|
|