Go to www.iclicknews.com
Live&Travel

Amazing Thailand
เล่นสงกรานต์ดับร้อนๆๆ

เรื่องและภาพ by BLOGGER นักเดินทาง

           

รับเทศกาลปีใหม่ไทย ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ประเทศไทยจัดเฉลิมฉลองทั่วประเทศ ตลอดเดือนเมษายน ช่วงที่ร้อนสุดๆแห่งปี
บางจังหวัดเริ่มจัดงาน ตั้งแต่ต้นเดือน และมีบางจังหวัดปิดท้ายฉลองกันช่วงปลายเดือนเมษายน แต่ไฮไลท์ของงานมหาสงกรานต์นั้น คงเป็นช่วงวันที่ 13-17 เมษายนทุกปี
สำหรับกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย คงจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ ถนนข้าวสาร สีลม และสนามหลวง ส่วนย่านอื่นๆ ก็คงเล่นสงกรานต์กันอย่างสนุกสนานไม่แพ้กัน
ส่วนเมืองหลัก เมืองรอง นนทบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และขอนแก่น เป็นต้น คงจัดงานเฉลิมฉลองอย่างเต็มที่
ในช่วงเทศกาลบางแห่ง จะมีการละเล่นประจำท้องถิ่น อาทิ การเล่นสะบ้า หรือการละเล่นอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการเข้าวัดทำบุญ ตักบาตร การก่อพระทรายก่อนวันสงกรานต์ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในครอบครัว ชุมชน แสดงถึงความเคารพรักของเด็กที่มีต่อผู้ใหญ่
จากนั้นก็เป็นช่วงแห่งความบันเทิง เด็กๆ วัยรุ่น คนทำงาน จะเดินทางไปวัด หรือแหล่งชุมชนที่มีการเล่นน้ำ สาดน้ำกัน คลายร้อนมากทีเดียว
ปีนี้คาดว่าแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ห้างฯ สวนสนุก โรงแรม ร้านอาหาร ต่างๆ คงจัดเฉลิมฉลองรับปีใหม่ไทยกันถ้วนหน้า ต้อนรับชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในช่วงนี้
เรียกว่าเป็นอีก Amazing Thailand เล่นสงกรานต์ดับร้อนๆๆ ที่รักษาวัฒนธรรม ประเพณีไทย สมัยโบราณที่สืบสานกันมาหลายร้อยปี ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่ยังมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
ใครใกล้ที่ไหน? ชุมชนไหน? ก็อย่าลืมเข้าวัดทำบุญ ก่อพระทราย สรงน้ำพระ และรดน้ำผู้ใหญ่ที่บ้าน คืนความรัก ความอบอุ่นให้ครอบครัว รับวันครอบครัวและช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ปีนี้


"แกะรอยตำนาน
วันสงกรานต์"

ตำนานของวันสงกรานต์ตั้งแต่สมัยโบราณ มีเรื่องเล่าสืบขานกันมาว่าท้าวกบิลพรหม เทพชั้นพรหมแพ้พนัน ธรรมบาลกุมาร เด็กอายุ ๗ ขวบ ที่เรียนจบพระคัมภีร์ไตรเพท ด้วยปัญหา ๓ ข้อ คือ ในเวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาค่ำ มนุษย์นั้นมีราศีอยู่ที่ใดบ้าง จึงต้องตัดเศียรตัวเองบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญาที่ตกลงกัน แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมนี้ร้อนแรง หากวางบนแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง หากทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง จึงมอบหน้าที่ให้ธิดาทั้ง ๗ นาง ผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเช่นนี้ประจำทุกปี
ธิดาทั้ง ๗ นางนั้น มีชื่อต่าง ๆ กัน แต่รวมเรียกว่า นางสงกรานต์ทั้งสิ้น ได้แก่
๑. นางสงกรานต์ทุงษะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วปัทมราช (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
๒. นางสงกรานต์โคราคะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมุกดาเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
๓. นางสงกรานต์รากษสเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วโมรา ภักษาหารคือโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (สุกร)
๔. นางสงกรานต์มณฑาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ ภักษาหารคือนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
๕. นางสงกรานต์กิริณีเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมรกต ภักษาหารคือถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)
๖. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วบุษราคัม ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (กระบือ)
๗. นางสงกรานต์มโหธรเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วนิลรัตน์ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)
ตามตำนานมีความเชื่อว่าหากในปีใดนางสงกรานต์ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ ถ้านางสงกรานต์นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ หากนางสงกรานต์นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข และถ้าในปีใดนางสงกรานต์นอนหลับตา พระมหากษัตริย์เจริญรุ่งเรืองดี (ที่มา : หอสมุดแห่งชาติ) ภาพนางสงกรานต์ : https://today.line.me/th/v2/article/3qOJJW



  --  
iClickNews.com